ไทยติดเชื้อ BA.2.3.20 เพิ่มอีก 2 ราย ไม่เคยไปต่างประเทศ

องค์การอนามัยโลกเตือนไทยจับตาการกลายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BQ ล่าสุดไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อ BA.2.3.20 เพิ่มอีก 2 ราย ไม่เคยไปต่างประเทศ

สุขภาพ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ ร่วมกันแถลงอัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามโอไมครอน นพ.ศุภกิจ ระบุว่า โควิด-19 มีการกลายพันธุ์จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นตระกูลโอไมครอน BA.5 แต่การกลายพันธุ์บางตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น XBB หรือ BQ.1 และมีแนวโน้มว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา BQ.1 จะระบาดเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่ BA.5 แต่ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อกลายพันธุ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประกอบกับประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน การเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้ในไทยตรวจพบดังนี้ BA.4.6 ทั่วโลกพบ 42,421 ตัวอย่าง พบในไทยเป็นคนที่ 3 โดยผู้ป่วยคนล่าสุดเป็นชายไทยอายุ 59 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีอาการหายใจเหนื่อย มีเสมหะ หลังครบระยะกักตัวอาการสบายดี BA.2.3.20 เป็นลูกหลานของ BA.2 กลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ทั่วโลกพบ 1,048 ตัวอย่าง ในประเทศไทยมีรายงานครั้งแรก 2 ราย คนแรกเป็นผู้ป่วยเพศชายสัญชาติจีน อายุ 49 ปี มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ 2-3 วัน ครบระยะกักตัวแล้วอาการสบายดี และผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 10 ปี ครบระยะกักตัวอาการสบายดี BQ.1 ทั่วโลกพบ 5,174 ตัวอย่าง ในไทยพบ 2 ราย รายล่าสุดเป็นชายไทยเดินทางกลับจากประเทศอิตาลี ครบระยะกักตัวอาการสบายดี XBB พบเพิ่ม 3 ราย แบ่งเป็น XBB.1 จำนวน 2 ราย เป็นผู้ป่วยหญิงชาวสิงคโปร์ และหญิงไทยอายุ 44 ปี เดินทางกลับจากโปรตุเกส ทั้ง 2 ราย หลังครบระยะกักตัวอาการสบายดี ส่วน XBB พบในเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ มีประวัติเดินทางไปสถานที่คนหนาแน่น

ไทยติดเชื้อ BA.2.3.20 เพิ่มอีก 2 ราย ไม่เคยไปต่างประเทศ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจ 143 ราย พบว่า BA.2.75 รวม 10 ราย

ถือว่าเพิ่มขึ้นและจะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป คาดการณ์ว่าในอนาคตเราจะจับตาดู BQ.1 หากเพิ่มจำนวน อย่างรวดเร็วจะเพิ่มน้ำยาตรวจจำเพาะต่อสายพันธุ์ BQ ทั้งหลายด้วย ว่าจะเพิ่มขึ้นเหมือนยุโรปและอเมริกาหรือไม่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกให้ไทยจับตาการกลายพันธุ์ชนิดนี้ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจสายพันธุ์ BQ แยกออกมาเพิ่มเติม “การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติของไวรัส บางตัวอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่บางตัวหากมีอำนาจ ก็จะไปกดตัวเลขเชื้อตัวอื่นต่อ แต่ทั้งหมดยังไม่มีสัญญาณของความรุนแรง และมีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง ประกอบกับคนทั้งโลกมีภูมิคุ้มกัน จึงขอขอบคุณประชาชนคนไทยที่ยังสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ในช่วงฤดูหนาวนี้ ยังคงมีความจำเป็น” นพ.ศุภกิจ กล่าว อย. เพิ่มข้อบ่งใช้ยาฉีด EVUSHELD เพื่อรักษาโควิด-19 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนยา EVUSHELD ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ภายใต้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เพื่อใช้ป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ล่าสุด อย. ได้เพิ่มข้อบ่งใช้ของยา EVUSHELD เป็นการใช้ฉีดเพื่อรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม ข่าวสุขภาพ  โดยใช้ขนาด 600 มิลลิกรัม จากเดิมที่อนุมัติให้ใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ยา EVUSHELD สามารถลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 50-60% โดยผู้ควรได้รับยา EVUSHELD อย่างเร็วที่สุดเมื่อทราบผลการติดเชื้อโควิด-19 และควรได้รับยาภายใน 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรแจ้งข้อมูลเบื้องต้นกับแพทย์ เช่น ประวัติการแพ้ยา ประวัติการรักษาโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร เป็นต้น

You may also like...